5 โรคจากนกพิราบที่ควรระวัง

ไข้หวัดนก

เป็นการติดเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์เอในสัตว์ปีก ซึ่งปกติจะติดต่อกันระหว่างสัตว์เท่านั้น แต่บางสายพันธุ์สามารถแพร่เชื้อมาสู่คนได้ โดยเฉพาะไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ที่เคยพบการระบาดในประเทศไทยมาก่อน ซึ่งตัวโรคอาจก่อให้เกิดอาการคล้ายไข้หวัดทั่วไป เช่น มีปัญหาในระบบทางเดินหายใจ อย่างไอหรือน้ำมูกไหล เจ็บคอ ท้องเสีย  มีไข้ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ เป็นต้น

โรคซิตตาโคซิส (Psittacosis)

บางคนอาจรู้จักกันในชื่อว่า ไข้นกแก้ว เป็นโรคที่เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย Chlamydia Psittaci ซึ่งพบบ่อยในนกพิราบที่ถูกนำมาเลี้ยงในกรง ผู้ป่วยมักมีอาการเพียงเล็กน้อย อย่างมีไข้ สั่น ปวดศีรษะ ปวดกล้ามเนื้อ หรือไอแห้ง โรคนี้ยังก่อให้เกิดปอดบวม ซึ่งเป็นอาการปอดติดเชื้อที่ควรได้รับการรักษาและดูแลจากแพทย์ในโรงพยาบาลอย่างใกล้ชิด เพราะอาจนำไปสู่การเสียชีวิต แต่มักพบได้น้อยมาก

โรคคริปโตคอกโคสิส (Cryptococcosis) 

โรคนี้เกิดจากการติดเชื้อรา Cryptococcus Neoformans ที่พบได้บ่อยในมูลของนกพิราบ ผู้ป่วยส่วนใหญ่มักเป็นผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เช่น ผู้ที่ใช้ยากดภูมิคุ้มกัน ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอตั้งแต่กำเนิด หรือผู้ป่วยโรคเอดส์ โดยเชื้อนี้จะส่งผลต่อปอดก่อนจะแพร่ไปยังอวัยวะส่วนอื่นผ่านทางกระแสเลือด บางครั้งอาจมีอาการปวดศีรษะเป็นพัก ๆ หน้ามืด เวียนศีรษะ ปวดขมับหรือเบ้าตา มีปัญหาด้านการมองเห็น อาเจียน ไอเป็นเลือด มีก้อนเนื้อที่จมูก เลือดออกจมูก มีไข้อ่อน ๆ น้ำหนักตัวลดลง และมีหลอดลมอักเสบร่วมด้วย หากติดเชื้อที่สมองอาจมีอาการสับสนและมีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลงไป ในบางรายอาจแสดงอาการก็ต่อเมื่อร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง

โรคฮิสโตพลาสโมซิส (Histoplasmosis)

นับเป็นอีกหนึ่งโรคที่สามารถติดต่อมาสู่คนได้ โรคนี้เป็นการติดเชื้อรา Histoplasma ซึ่งอยู่ในดินที่ปนเปื้อนไปด้วยมูลของนกพิราบ ผู้ที่ได้รับเชื้อส่วนใหญ่จะไม่มีอาการป่วยเกิดขึ้น แต่ในบางรายอาจมีไข้ ไอ หรือรู้สึกเหนื่อยล้า แต่โรคฮิสโตพลาสโมซิสมักหายไปได้เองโดยไม่จำเป็นต้องรับการรักษา ยกเว้นคนที่มีภูมิคุ้มกันอ่อนแอ ซึ่งอาจส่งผลให้การติดเชื้อทวีความรุนแรงมากขึ้นได้

โรคซาลโมเนลโลสิส (Salmonellosis)

แม้ว่าโรคติดเชื้อจากแบคทีเรียซาลโมเนลลา (Salmonella) ส่วนใหญ่จะมีสาเหตุมาจากการรับประทานอาหารและดื่มน้ำที่ปนเปื้อนเชื้อดังกล่าว แต่การอยู่ใกล้นกพิราบที่เป็นพาหะก็อาจเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้เช่นกัน โดยมีสัญญาณที่บ่งบอกอาการของโรค เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ปวดเกร็งหน้าท้อง ท้องเสีย มีไข้ สั่น ปวดศีรษะ หรือถ่ายเป็นเลือด ซึ่งผู้ที่มีสุขภาพแข็งแรงมักมีอาการดีขึ้นภายในไม่กี่วันโดยไม่ต้องรับการรักษา แต่บางคนอาจไม่มีอาการป่วยแสดงออกมาก็ได้

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *