อสรพิษใกล้ตัวที่ไม่ควรมองข้าม

งู สัตว์เลื้อยคลานที่ใครหลายๆคนไม่พึงประสงค์ และเรามักจะพบมากในหน้าฝน และชอบมากับภัยนํ้าท่วม 🐍🐍🐍

งูมักเป็นแขกที่ไม่ได้เชิญในฤดูฝนชุก บ้านใครอยู่ใกล้แหล่งน้ำต้องไม่ลืมว่า มันมักหนีน้ำขึ้นมาซุก หรือถึงกับโผล่พรวดเข้ามาในบ้าน งูเมืองไทยมีมากมายหลายชนิด ทั้งแบบไม่มีพิษ และมีพิษ
ในประเทศไทยมีรายงานอุบัติการณ์งูพิษกัดประมาณ 7,000-10,000 รายต่อปี
งูพิษที่มีความสำคัญที่พบบ่อยในประเทศไทย

1. ต่อระบบประสาท ได้แก่ งูเห่าไทย งูเห่าพ่นพิษสยาม งูจงอาง งูสามเหลี่ยม และงูทับสมิงคลา

2. งูที่มีพิษต่อระบบเลือด ได้แก่ งูแมวเซา งูกะปะ และงูเขียวหางไหม้

3. งูที่มีพิษทำลายกล้ามเนื้อ ได้แก่ งูทะเล

อาการและอาการแสดง
เมื่อถูกงูพิษกัด จะมีรอยเขี้ยวพิษเป็นรูเหมือนถูกเข็มตำ 2 รอย

1. งูที่มีพิษต่อระบบประสาท พิษของงูจะทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง และเป็นอัมพาต จะเริ่มจากกล้ามเนื้อมัดเล็ก ไปจนถึง กล้ามเนื้อมัดใหญ่และสุดท้ายจะเป็นทั้งตัว อาการแรกเริ่ม คือ หนังตาตก ผู้ป่วยลืมตาไม่ขึ้น ซึ่งมักถูกเข้าใจผิดๆ ว่าผู้ป่วยง่วงนอน ต่อมาจะเริ่มกลืนน้ำลายลำบาก พูดอ้อแอ้ และหยุดหายใจ เสียชีวิต
2. งูที่มีพิษต่อระบบเลือด เมื่อถูกงูแมวเซาฉกกัด มีอาการปวดบวมบริเวณรอบแผลเล็กน้อย สำหรับงูกะปะจะพบตุ่มน้ำเลือดหลายอัน และบางอันมีขนาดใหญ่ และมีเลือดออกจากแผลที่ถูกกัด ในกรณีของงูเขียวหางไหม้ จะมีอาการบวมบริเวณที่ถูกกัด และลามขึ้นค่อนข้างมาก เช่น ถูกกัดบริเวณนิ้วมือ แต่บวมทั้งแขน นอกจากนี้จะมีอาการช้ำเลือด
พิษของงูจะไปทำให้เลือดในร่างกายไม่แข็งตัว เลือดออกไม่หยุด เช่น เลือดออกในทางเดินอาหาร เลือดออกในสมอง ปัสสาวะมีเลือดปน เลือดออกตามไรฟัน ในกรณีของงูแมวเซาจะมีความรุนแรงกว่างูกะปะและงูเขียวหางไหม้ และพบภาวะไตวายเฉียบพลันร่วมด้วยได้
3. งูที่มีพิษทำลายกล้ามเนื้อ ปวดกล้ามเนื้อทั่วทั้งตัว ปัสสาวะมีสีเข้มจนถึงสีดำ ปัสสาวะออกน้อยเนื่องจากมีภาวะไตวายเฉียบพลัน อาจมีหัวใจหยุดเต้นจากภาวะโพแทสเซียมคั่งในเลือด

Leave a Reply

Your email address will not be published. Required fields are marked *