วิธีป้องกันตนเองจากนกพิราบ
การป้องกันตนเองและลดความเสี่ยงของการเกิดโรคจากนกพิราบนั้นสามารถทำได้ง่าย ๆ โดยการอยู่ให้ห่างจากนกที่ป่วยหรือเป็นพาหะนำโรคให้ได้มากที่สุด โดยมีคำแนะนำที่ควรปฏิบัติดังต่อไปนี้
- หลีกเลี่ยงการสัมผัสนก เข้าไปอยู่ในฝูงนก หรือให้อาหารนก หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรสวมถุงมือ สวมหน้ากากอนามัย และล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังสัมผัสนก โดยเฉพาะนกที่ป่วยหรือตายแล้ว
- หากนกพิราบมาบินวนเวียนอยู่ใกล้ที่อยู่อาศัยเป็นประจำควรไล่นกออกไปไกล ๆ โดยอาจใช้แรงคนหรือสัตว์เลี้ยงเข้ามาช่วยไล่ รวมถึงอาจประยุกต์ใช้อุปกรณ์ไล่นกต่าง ๆ มาช่วยไล่นก อย่างการเคาะไม้ การจุดประทัด การปักหุ่นไล่กา หรือการแขวนกระจกเงาก็ได้ผลดี รวมถึงยังสามารถติดตั้งตาข่าย ตะแกรง ขึงเอ็น เส้นสวด หรือนำวัสดุที่แหลมคมอย่างเศษแก้วหรือลวดหนามมาใช้ เพื่อป้องกันนกพิราบมาเกาะอีกด้วย
- ทำลายกรงนกในบริเวณที่อยู่อาศัยให้หมด หากเป็นจุดที่แสงแดดส่องไม่ถึง ควรล้างทำความสะอาดและฆ่าเชื้อโรคด้วยผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดเป็นประจำ
- ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ มีโรคประจำตัว เด็ก ผู้สูงอายุ และสตรีมีครรภ์ควรระมัดระวังนกพิราบมากเป็นพิเศษ โดยไม่ควรสัมผัสนกที่ป่วยหรือตายแล้ว หมั่นล้างมือให้สะอาดร่วมกับการออกกำลังอย่างสม่ำเสมอ เพื่อสุขภาพที่ดีและสร้างภูมิคุ้มกันที่แข็งแรงมากขึ้น ซึ่งจะช่วยป้องกันเชื้อโรคได้
อย่างไรก็ตาม หากสัมผัสกับนกพิราบที่ป่วยหรือซากนกที่ตายแล้วพบว่าตนเองมีอาการคล้ายไข้หวัดใหญ่ เช่น มีไข้ ปวดศีรษะ ปวดตามร่างกาย เจ็บคอ อ่อนเพลีย หรือไอแห้ง ควรไปพบแพทย์เพื่อรับการวินิจฉัยอย่างถี่ถ้วน เพราะนี่อาจเป็นอาการจากปัญหาสุขภาพดังที่กล่าวถึงข้างต้น ทั้งนี้ หากพบเห็นสัตว์ปีกมีอาการผิดปกติหรือตาย สามารถแจ้งได้ที่สำนักงานปศุสัตว์ในพื้นที่หรือสายด่วนกรมปศุสัตว์ที่เบอร์ 063-225-6888